การถ่ายทอดความคิดเป็นชิ้นงาน
การถ่ายทอดความคิดที่เป็นชิ้นงาน เป็นการอธิบายหรือสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะของรูปร่าง รูปทรง รายละเอียดและส่วนประกอบของชิ้นงาน ซึ่งการถ่ายทอดความคิดลักษณะนี้ทำได้หลายวิธี ได้แก่ ภาพร่าง 3 มิติ ภาพฉาย แบบจำลอง และต้นแบบ
1. ภาพร่าง 3 มิติ
ภาพร่าง 3 มิติ เป็นภาพที่ประกอบด้วย ด้านกว้าง ด้านยาว และความสูง หรือ ความลึก ใช้สำหรับแสดงรายละเอียดต่าง ๆ ของรูปร่าง รูปทรง การทำงานและกลไกภายใน การเขียนภาพร่าง 3 มิติ ดังนี้
- ภาพ Oblique เป็นภาพร่าง 3 มิติ ที่มองเห็นรูปร่าง ด้านหน้า เป็นแนวตรง มีฐานของภาพขนานกับแนวเส้นระดับ สามารถวัดขนาดได้ ส่วนความสูงหรือลึก จะทำมุม 45 องศากับเส้นระดับ ซึ่งการวาดภาพออบลิกนี้ จะเริ่มต้นด้วยการร่างภาพ 2 มิติ ที่ขนานกับแนวเส้นระดับก่อน
ภาพที่ 5.1 ตัวอย่างภาพ Oblique ที่มา : http://www.onlinedesignteacher.com
- ภาพไอโซเมตริก (Isometric) เป็นแบบภาพ 3 มิติ ที่มองเห็นรูปร่างลักษณะเหมือนของจริง มีแนวสันของวัตถุด้านหนึ่งตั้งฉากกับแนวเส้นระดับ ส่วนด้านหน้าและด้านข้างจะทำมุม 30 องศา กับเส้นระดับ ซึ่งการร่างภาพอาจทำได้โดยการขึ้นเส้นแกน เพื่อช่วยในการสร้างภาพไอโซเมตริก
ภาพที่ 5.2 ตัวอย่างภาพ Isometric ที่มา : http://www.me.umn.edu
- ภาพ Dimetric เป็นภาพสามมิติที่คล้ายคลึงงานจริงมากที่สุด ทำให้ง่ายต่อการอ่านภาพ แต่เขียนยากเพราะทำมุมเอียง 7 และ 42 องศา ทำให้สิ้นเปลืองเวลาในการเขียน
ภาพที่ 5.3 ตัวอย่างภาพ Dimetric ที่มา : http://www.supradit.com
- ภาพ Perspective มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาพทัศนียภาพ เป็นภาพที่เหมือนจริงตามสายตาที่มองเห็น ชิ้นงานที่อยู่ไกลจะมองเห็นภาพมีขนาดเล็กลงไปเรื่อย ๆ เรียกว่าเป็นส่วนลึกของภาพ ภาพ Perspective แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ แบบจุดรวมสายตาจุดเดียว และ แบบจุดรวมสายตา 2 จุด
ภาพที่ 5.4 ตัวอย่างภาพ Perspective ที่มา : http://www.thaigoodview.com
การเขียนภาพร่าง 3 มิติ จะช่วยในการแสดงลักษณะรูปร่าง และรูปทรงได้เหมือนของจริงมาก สามารถแสดงรายละเอียดได้ถึง 3 ด้าน เหมือนกับได้เห็นชิ้นงานจริง อีกทั้งยังได้แสดงให้เห็นการประกอบกันของชิ้นส่วนต่าง ๆ ของชิ้นงาน และสามารถทำความเข้าใจลักษณะการทำงานของชิ้นงานนั้นได้ดียิ่งขึ้น และในการร่างภาพ 3 มิติ สามารถใช้กระดาษไอโซเมตริกกริดช่วยในการร่างภาพได้
ภาพที่ 5.5 การร่างภาพ 3 มิติด้วยการใช้กระดาษไอโซเมตริกกริด |
ที่มา : http://i.stack.imgur.com |
2. ภาพฉาย
ภาพฉาย เป็นภาพที่แสดงรายละเอียดของแนวคิดในการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการในแต่ละด้านของสิ่งที่จะสร้าง ตลอดจนมีรายละเอียดของแบบงานครบถ้วนสมบูรณ์ชัดจน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถนำไปสร้างขึ้น ตามแบบได้อย่างถูกต้อง ภาพฉายยังสามารถแสดงรายละเอียดต่าง ๆ ได้ เช่น รูปร่าง ขนาด และผิวงาน ประกอบด้วยภาพด้านหน้า ด้านข้าง และภาพด้านบน แสดงขนาดด้านกว้าง ด้านยาว และความสูงหรือความลึกของชิ้นงานและหน่วยในการวัดขนาด เพื่อสามารถนำไปสร้างเป็นแบบจำลองหรือชิ้นงานของจริงได้
ในการเขียนภาพฉายส่วนใหญ่ จะเขียนหรืออ่านจากภาพไอโซเมตริก หรือ ภาพของจริง โดยการมองแต่ละด้านแล้วเขียนออกมาเป็นภาพฉาย 2 มิติ ตามภาพที่มองเห็น ซึ่งมีตำแหน่งการมองภาพดังนี้
ภาพที่ 5.6 การมองภาพในตำแหน่งต่าง ๆ |
ที่มา : http://cnx.org |
ภาพที่ 5.7 การเขียนภาพฉายจากการมองภาพ Isometric |
3. แบบจำลอง (Model)
เป็นการถ่ายทอดความคิดที่ใช้แก้ปัญหาหรือสนองความต้องการในรูปของชิ้นงาน 3 มิติ โดยจำลองรูปทรง ขนาด สัดส่วน โครงสร้าง และรายละเอียดเพื่อจำลองการทำงานของชิ้นงาน การสร้างแบบจำลองมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ ตรวจสอบแนวคิดในด้านความงามของรูปทรง หน้าที่ใช้สอย ความแข็งแรงของโครงสร้าง ความสะดวกสบายในการใช้งาน รวมทั้งเพื่อทดสอบแนวคิดในรูปแบบ 3 มิติ ของสิ่งต่าง ๆ เช่น รถยนต์ เครื่องบิน อาคาร พืช คน สัตว์ สิ่งของ ย่อลงตามมาตราส่วน
ภาพที่ 5.8 แบบจำลองอย่างง่ายที่ทำจากกล่องกระดาษ |
ที่มา : http://www.bansuanporpeang.com |
ภาพที่ 5.9 แบบจำลองย่อส่วนของอาคารบ้านเรือน |
ที่มา : http://www.creativevill.com |
ในปัจจุบัน แบบจำลองที่เราพบเห็นมีมากมายหลายรูปแบบ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีวิธีการสร้างและใช้วัสดุอุปกรณ์ในการสร้าง แตกต่างกันออกไป บางชิ้นงานสร้างมาจากวัสดุที่หาได้ง่ายภายในท้องถิ่น บางชิ้นงานเป็นการนำวัสดุที่เหลือมาสร้างเป็นแบบจำลอง
4. ต้นแบบ (Prototype)
ต้นแบบ เป็นชิ้นงานจริงที่มีรูปทรง ขนาด สัดส่วน โครงสร้างที่แสดงรายละเอียดและการใช้งานตามที่ได้ออกแบบทุกประการ ซึ่งวัสดุและกรรมวิธีการผลิตที่นำมาใช้ในการสร้างต้นแบบอาจเป็นวัสดุจริง หรือวัสดุทดแทนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับที่กำหนดไว้ในภาพร่างก็ได้ ปัจจุบันการทำชิ้นงานต้นแบบ มีเทคโนโลยีให้เลือกใช้มากมายและสะดวกมากยิ่งขึ้น เมื่อเชื่อมต่อเข้ากับเทคโนโลยีการออกแบบ 3 มิติ เช่น CAD/CAM เพื่อผลิตชิ้นงานต้นแบบขึ้นโดยตรง
ภาพที่ 5.10 ต้นแบบจักรยานแห่งอนาคต |
ที่มา : http://blog.lnw.co.th |
ชิ้นงานที่ได้จากการสร้างแบบจำลองและการสร้างต้นแบบนั้นมีความแตกต่างกัน คือ ชิ้นงานที่ได้จากการสร้างแบบจำลองนั้นยังไม่สามารถนำไปใช้งานจริงได้ เพียงแค่มีรูปทรงที่ใกล้เคียงกับชิ้นงานที่ต้องการสร้างเท่านั้น ส่วนชิ้นงานที่ได้จากการสร้างต้นแบบนั้นจะมีรูปทรงและรายละเอียดทั้งหมดเหมือนกับชิ้นงานจริงที่ต้องการสร้าง และบางส่วนของต้นแบบนั้นยังสามารถใช้งานได้จริงอีกด้วย